วันจันทร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ความเป็นมาของโครงการ SMA


นายโสภณ  สุขโข  ผู้อำนวยการโรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา ( คนที่ 25 )  ประสงค์จะนำจุดเด่นของโรงเรียนใน  เรื่องการจัดการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์  คณิตศาสตร์  มาดำเนินการเป็นโครงการพิเศษ เพื่อส่งเสริมศักยภาพผู้เรียนให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ  .. 2542  และในขณะนั้นปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ดร.กษมา  วรวรรณ ณ อยุธยา  มาตรวจเยี่ยมโรงเรียน  (เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2546)  ได้บันทึกการตรวจเยี่ยมที่น่าสนใจไว้ว่า    ขอสนับสนุนแนวความคิดของท่านผู้อำนวยการโสภณ ที่จะเปิดโครงการสำหรับนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษ ขอให้เสนอแนวความคิดมายังกระทรวงศึกษาธิการ และแม้จะมีโครงการสำหรับเด็กกลุ่มนี้ ขอฝากความหวังว่านักเรียนทุกคนจะได้รับการพัฒนาดูแลอย่างดี เพื่อเกียรติประวัติของโรงเรียนมหาวชิราวุธสืบไป  และจากนโยบายกรมสามัญศึกษาส่งเสริมให้สถานศึกษาในสังกัดกรมสามัญศึกษาจัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์เพื่อพัฒนาศักยภาพของนักเรียนโรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา จึงได้จัดทำโครงการส่งเสริมความสามารถทางด้านวิทยาศาสตร์  คณิตศาสตร์ เพื่อส่งเสริมนักเรียนให้พัฒนาสู่ความเป็นเลิศด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และสนับสนุนให้ นักเรียนได้พัฒนาศักยภาพด้วยรูปแบบที่เหมาะสมกับความสามารถของนักเรียน โรงเรียนมหาวชิราวุธ ได้เตรียมการในโครงการดังกล่าว โดยการแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาวางแผนศึกษาหลักสูตรพิเศษ  ศึกษาลักษณะการดำเนินงานของโครงการซึ่งได้มีมติให้
ชื่อโครงการว่า 
โครงการพัฒนานักเรียนที่มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ 
                โครงการพัฒนานักเรียนที่มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ได้มีการพัฒนาไปเป็นลำดับจนปัจจุบัน โดยนายสัจจา   ศรีเจริญ  ผู้อำนวยการโรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา ในพระอุปถัมภ์ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี  เห็นความสำคัญของโครงการจึงได้กำหนดแนวทางพัฒนาโครงการในเชิงรุกอย่างจริงจัง  ระยะแรกมีแนวคิดที่จะก่อตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยีและภาษา เฉลิมพระเกียรติในวโรกาส  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระชนม์พรรษา 80 พรรษา  โรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา ในพระอุปถัมภ์ โดยขอสนับสนุนงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น  กำหนดเป็นโครงการต่อเนื่องมา  6  ปี (ตั้งแต่ 2549 - 2555) แต่ติดขัดด้านงบประมาณ  จึงปรับเปลี่ยนมาเป็นโครงการพัฒนานักเรียนที่มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยีและภาษา (SMA)   ได้ดำเนินการประสานงานทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของหน่วยงาน และองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน เข้ามาให้การสนับสนุนเพิ่มมากขึ้น เช่น องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา,   มหาวิทยาลัยทักษิณ,  มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา,   มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย  ได้ร่วมลงนามร่วมมือในการจัดการศึกษา   (MoU)   ซึ่งสถาบันดังกล่าวได้ให้ความอนุเคราะห์ร่วมมือเป็นอย่างดียิ่ง
องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ให้การสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาบุคลากรและการบริหารจัดการ
                มหาวิทยาลัยทักษิณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย และมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ให้การสนับสนุนทางด้านวิชาการ เช่น การส่งอาจารย์ช่วยสอน การใช้ห้องปฏิบัติการทางภาษา  การใช้ห้องปฏิบัติการด้านวิทยาศาสตร์  การใช้ห้องปฏิบัติการทางคณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีต่างๆ ตามที่โรงเรียนขอความอนุเคราะห์
                การจัดกระบวนการเรียนการสอนได้จัดทำหลักสูตรพิเศษมีอยู่ 2 ส่วน คือ
                                1. หลักสูตรพื้นฐาน ตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด
                                2. หลักสูตรเพิ่มเติม จัดทำหลักสูตรแนว พสวท. โดยเน้นในรายวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี กำหนดให้นักเรียนเรียนในเนื้อหาสาระที่ลึก มีติวเข้มเป็นระยะ จัดกิจกรรมเสริม เรียนวิชาโครงงาน จัดสอนกลุ่มย่อย เรียนในภาคปฏิบัติในห้องปฏิบัติการ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์  เทคโนโลยี และภาษา ซึ่งมหาวิทยาลัยทั้ง 3 สถาบันได้ให้การสนับสนุนตามข้อตกลงความร่วมมือเป็นอย่างดี การจัดกิจรรมเสริม และการศึกษาแห่งเรียนรู้ในประเทศและต่างประเทศ มุ่งหวังให้นักเรียนได้ประสบการณ์การเรียนรู้ เปิดโลกทัศน์ และจุดประกายความคิดในการพัฒนาตนเองให้สอดคล้องกับสังคมที่กำลังพัฒนาได้เป็นอย่างดี
                ทางด้านคุณธรรม จริยธรรม ได้นำกระบวนการอบรม สั่งสอนและพัฒนาด้านคุณธรรม จริยธรรม เน้นโดยเฉพาะ คุณธรรม จริยธรรมใน 5 ประการ คือ วินัย ความรับผิดชอบ ความสามัคคี ความเป็นประชาธิปไตย และความเป็นไทย
สำหรับครูผู้สอน โรงเรียนได้คัดเลือกครูที่มีความสามารถในแต่ละรายวิชามาเป็นผู้สอน ผู้ควบคุมดูแลเป็นพิเศษ ส่วนการเรียนการสอนภาษา กำหนดให้เรียนกับครูต่างประเทศซึ่งเป็นเจ้าของภาษาโดยตรง
                แนวคิดดังกล่าวข้างต้นคาดหวังว่าโรงเรียนมีระบบมาตรฐานการบริหารจัดการได้ระดับสากล  เพื่อเป้าหมายที่สำคัญ คือ นักเรียนในโครงการพัฒนานักเรียนที่มีความสามารถพิเศษด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยีและภาษา (SMA) ได้รับการพัฒนาด้านคุณภาพเต็มศักยภาพในระดับสากล และมีคุณธรรมจริยธรรมอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข










ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น